เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์

 

“แหล่งเรียนรู้กรุงธนบุรีศึกษา” Thonburi Learning Center

 

             สืบเนื่องจากสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อันเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและดำเนินงานด้านการทำนุบำรุง อนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ และพัฒนาศิลปวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ย่านฝั่งธนบุรี ในแง่ประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม และสังคม ประกอบกับปัจจุบัน สำนักศิลปะและวัฒนธรรมมีฐานข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับย่านธนบุรีเป็นจำนวนมาก จึงเล็งเห็นว่าควรดำเนินการจัดทำโครงการก่อสร้างและปรับปรุง “แหล่งเรียนรู้กรุงธนบุรี”โดยมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงอาคารศรีสุริยวงศ์อันเป็นที่ทำการของสำนักงานและภูมิทัศน์โดยรอบ จัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้กรุงธนบุรี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริม และเผยแพร่ภูมิปัญญาของชุมชน ให้แก่ผู้เข้าชม อันได้แก่ นักเรียน นักศึกษา บุคคลากรภายในมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไป ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้องค์ความรู้เผยแพร่ออกไปในวงกว้างขึ้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติในด้านการสร้างเครือข่าย ทางวัฒนธรรม โดยบูรณาการกระบวนการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมให้สอดประสานไปกับกิจกรรมการเรียนการสอน และกระบวนการพัฒนาการศึกษาของบุคคลากรภายในมหาวิทยาลัย ตามภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
              เนื้อหาของ ”แหล่งเรียนรู้กรุงธนบุรีศึกษา” ถูกจัดแสดงเป็นห้องต่างๆ จำนวน ๑๑ ห้อง โดยเล่าเรื่องราวผ่านพัฒนาการของธนบุรี (Timeline) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อันได้แก่
              ห้องที่ ๑ : เปิดเมือง : เพื่อนต้วน้อย เจ้าโทน เจ้าจุก และ เจ้าแกละ พร้อมพาทุกท่านนั่ง Time Machine เดินทางข้ามกาลเวลาย้อนไปยังกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีก่อน เพื่อสัมผัสวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สังคม วัฒนธรรม ของผู้คนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
              ห้องที่ ๒ : ครั้งเป็นทะเลปากอ่าว : ร่วมกันค้นหา คำตอบทางโบราณคดีและหลักฐานธรณีวิทยา เช่น ซากฟอสซิลกระดูกของสัตว์ทะเล ลักษณะชั้นดิน ตลอดจน พืชพันธุ์สัตว์ต่างๆ เมื่อ ราว ๑๒,๐๐๐ ปีก่อน มาดูกันว่า แท้จริงแล้ว …. กรุงเทพฯ เคยจมอยู่ใต้ท้องทะเลอ่าวไทย จริงหรือไม่?
              ห้องที่ ๓ : ลัดเมืองบางกอก : พื้นที่ดิน ดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิด การตั้งชุมชน เกิดย่านต่างๆ ขึ้น มีการขุดคูคลองเพื่อใช้ในการทำ การเกษตร ค้าขายและคมนาคม เติบโตจนกลายเป็น “เมืองบางกอก” ที่อุดมไปด้วยเรือกสวนไร่นา และลำคลองน้อยใหญ่ที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายแบบใยแมงมุม จนถูกขนานนามว่า “เวนิสตะวันออก”
              ห้องที่ ๔ : ฑณบุรีศรีมหาสมุทร หน้าด่านทางทะเล : ฑณบุรีศรีมหาสมุทร ชื่อเมืองที่พบในทำเนียบหัวเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ.๒๐๙๑-พ.ศ.๒๑๑๑) ได้ยกฐานะย่านบางกอกขึ้นเป็นเมืองธนบุรี แสดงถึงความสำคัญของกรุงธนบุรีในฐานะเมืองท่าสำคัญ
              ห้องที่ ๕ : ธนบุรี ราชธานีใหม่ใกล้ทะเล : เรื่องราว การสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีโดย “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเมืองการปกครอง การค้า และการต่างประเทศ
              ห้องที่ ๖ : กรุงเทพฯ (ซ้อน)ทับ กรุงธนฯ : แม้จะมีการย้ายราชธานี จากกรุงธนบุรี (ฝั่งธน) ไปยังกรุงรัตนโกสินทร์ (ฝั่งพระนคร) แต่ฝั่งธนบุรี ก็ยังคงมีความสำคัญในฐานะที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ พ่อค้าชาวต่างชาติ สะท้อนถึงรากเหง้าของกลุ่มคนที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบ้านเมืองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
              ห้องที่ ๗ : พระบรมธาตุแห่งพระนคร : พระปรางค์วัดอรุณฯ สัญลักษณ์แห่งกรุงธนบุรีที่สะท้อนให้เห็นถึงศิลปสถาปัตยกรรมไทยที่สร้างจากหลักคติไตรภูมิที่มีเขาพระสุเมรุเปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของจักรวาล แสดงถึงความเป็นจักรพรรดิราชของกษัตริย์ทำให้เกิดความงดงามที่ลงตัวตามแบบสถาปัตยกรรมของกรุงรัตนโกสินทร์
              ห้องที่ ๘ : ฅ คน ธนบุรี : ฝั่งธนฯ แหล่งหรือย่านวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางศาสนาความเชื่อ ของชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ไทย ลาว เขมร ญวณ มอญ ฝรั่งชาติตะวันตก จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในสยามประเทศ เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ทั้งวิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยา แสดงให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม งานหัตถกรรมพื้นบ้าน ฯลฯ รวมเป็นองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นไม่แพ้ถิ่นใดๆ
              ห้องที่ ๙ : บุนนาค ถิ่นฐานขุนนางสามแผ่นดิน : ตระกูล “บุนนาค” ถือเป็นตระกูลแรกๆ ที่เป็นตระกูลปัญญาชนของประเทศสยามในขณะนั้น และมีบุคคลสำคัญที่ต่างได้สร้างคุณูปการต่อประเทศชาติในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการเมือง การปกครอง การทหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
              ห้องที่ ๑๐ : มรดกวัฒนธรรมและงานศิลป์ ณ ฝั่งธนฯ : เมื่อกาลเวลาผ่านไป กรุงธนบุรีเปลี่ยนแปลงรูปโฉม
จากพื้นที่เรือกสวนไร่นากลายเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ก่อเกิดเป็นพหุสังคมแต่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนชาติพันธุ์ของตนเองได้เป็นอย่างดีเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรม ประเพณี นาฏยศิลป์ อาหาร งานหัตถกรรมสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใด
              ห้องที่ ๑๑ : เมื่อความเจริญข้ามฝั่ง : เมื่อความเจริญจากฝั่งพระนคร เดินทางข้ามฟากมาถึงฝั่งธนบุรียังความเจริญมาจนถึงปัจจุบัน ความเจริญเหล่านี้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเราพร้อมจะปรับตัวเข้ากับความเจริญที่หลั่งไหลเข้ามาได้อย่างไร? และจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปในทิศทางไหน?

              ในการจัดแสดงส่วนที่เป็นเนื้อหาตามห้องต่างๆ เพื่อไม่ให้ผู้เข้าชมเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายกับข้อมูลที่เป็นตัวอักษรหรือเนื้อหาที่เคร่งเครียดจนเกินไปนั้น ทางคณะผู้จัดทำจึงได้ออกแบบให้มีสื่อโสตทัศนอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนต์สั้น บทสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านหรือเกมส์ต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าชมรู้สึกสนุก ผ่อนคลาย นอกจากนี้การออกแบบทั้งเนื้อหาและพื้นที่เหมาะสำหรับกลุ่มบุคคล ตั้งแต่เด็ก นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ชาวต่างชาติรวมทั้งผู้พิการทางด้านต่างๆ ก็สามารถเข้าเยี่ยมชม เรียนรู้ แหล่งเรียนรู้กรุงธนบุรีได้เป็นอย่างดี
              ด้านบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับกับแหล่งเรียนรู้กรุงธนบุรีหรือตัวสถาบันการศึกษาเองนั้นก็สามารถที่จะสืบทอดหรือเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ฝั่งธนบุรีได้เป็นอย่างดี อาทิ มีการรื้อฟื้นนำเอาบทละครในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมาทำเป็นละครรำได้ หรือ มีการเขียนภาพงานศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ธนบุรี